31 January, 2012

ผมเห็นด้วยกับ "สมคิด" (และผู้บริหาร มธ.) ... มหาลัยควรเป็นสถานที่ราชการ

หลังจากที่ได้อ่านข่าว "สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มธ.เคลื่อนไหว112 เนื่องจากเกรงว่าประชาชนจะเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นฐานเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง
นี่สิ คือ ความเป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริงของธรรมศาสตร์ในยุคปัจจุบัน
  • ยุคแห่ง 14 ตุลา, 6 ตุลา ที่นักศึกษาถูกคอมมิวนิสต์ล้างสมองนั้นได้จบลงไปแล้ว
  • ชื่อ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)" ที่ ปรีดี พนมยงค์ ตั้งขึ้นนั้นเป็นแค่ gimmick หรูๆ ปรีดีคงจะคิดอะไรไม่ออกเลยใส่คำว่า "การเมือง" เข้าไปในชื่อโก้ๆ
  • แนวทางของ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ. คนปัจจุบัน คือการสืบต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของปรีดี ผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อย่างล้นพ้น อันจะเห็นได้จากการเชิดชูพระเกียรติของ ร. 7 ในร่างประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 
  • วจีอมตะของปรีดีที่เปรียบมหาวิทยาลัยเป็น "ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร" นั้นไม่ได้แย้งกับการห้ามเคลื่อนไหวรณรงค์แก้ ม. 112 [โดยเฉพาะกิจกรรมของคณะนิติราษฎร์]เลยแม้แต่น้อย เพราะตามเหตุผลของสมคิด "มหา'ลัยเป็นสถานที่ราชการ" การอันใดที่ทำให้มหาวิทยาลัยดูไม่เป็นราชการ จึงไม่สมควร
  • ก่อนหน้านี้ประชาชนมองบทบาททางการเมืองของมหาวิทยาลัย (ไม่ใช่แค่ มธ.) ในทางชื่นชมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการลงชื่อขอนายก ม. 7, การสนับสนุน(ทั้งทางตรงและทางอ้อม)การปล้นอำนาจประชาชน, รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามวิถีประชาธิปไตยนั้นเลวร้ายอย่างไร เผอิ๊ญ..เผอิญ ที่มีนักวิชาการส่วนน้อยไม่กี่คน เช่น คณะนิติราษฎร์ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจนทำให้ภาพพจน์ของนักวิชาการ-อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดีต้องแปดเปื้อน
สงสัยว่าวันที่ 11 พฤษภา "วันปรีดี พนมยงค์" ปีนี้ เราจะต้องจัดงานเฉลิมฉลองให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกๆ ปีซะแล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ระดับนี้ของผู้บริหาร มธ. ยุคปัจจุบัน เกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะสูงส่งคู่ฟ้าเมืองไทยไปชั่วกัลปาวสาน (อ้อ ที่อ้างกันว่าปรีดีไม่สนใจเกียรติตำแหน่งใดๆ นั้นก็คงไม่จริงหรอกครับ คงจะทำซึนไปอย่างนั้นเอง ดังนั้นเราจึงควรสักการะ "พ่อปรีดี" กันให้เต็มที่ เอาให้ดุจดั่งเทพเจ้าไปเลย)