30 March, 2010

ตอบบทความ "มุมมองคนไทยส่วนตัวผ่านสื่อออนไลน์"


เอาหละ ในเมื่อแสดงเจตน์จำนงว่าต้องการความคิดเห็น ผมก็ขออนุญาต (ไผ่เอ๋ย ทำใจก่อนอ่านนะ อ่านจบสงสัยมึงได้โกรธกูแน่)

คุณและอีกหลายคนคงจะทราบแล้วว่าผมเป็นหนึ่งในคนที่ได้ “เลือกข้าง” ไปแล้ว และผมยืดอกยอมรับด้วยว่าผมเลือกข้างเสื้อแดง (แต่ผมไม่กล้าแอบอ้างเป็นคนเสื้อแดง เนื่องจากยังไม่เคยไปร่วมชุมนุมเยี่ยงวีรชนกับพวกเขาเลยสักครั้ง)

พูดตามตรง ผมว่าตรรกะที่ผิดพลาดใหญ่หลวงของพวก “ตรงกลาง” “สีขาว” “สองไม่เอา” หรืออะไรก็แล้วแต่ (หมายถึงพวกที่ขออยู่ตรงกลางจริงๆ นะ ไม่นับพวกที่ “แอ๊บ” ขอเป็นกลางแบบเฉพาะกิจ) คือ การกำหนดกรอบของ “ความเป็นกลาง” ขึ้นมาล้อมรอบความคิดและการกระทำของตนเอง ไม่ว่าอะไรขอแทงกั๊กไว้ก่อน สุดท้ายกรอบเดียวกันนี้ก็กลายเป็นเชือกรัดคอตัวเองโดยไม่รู้ตัว

ลักษณะตัวอย่างเช่น บทความนี้เป็นต้น ผมพอจะจับประเด็นหลักของบทความได้ 3 ประเด็น

1. เจ้าของกระทู้เห็นว่าคนไทยมีวัฒนธรรมเก็บกดทำให้มีการแสดงออกในสถานการณ์ขัดแย้งที่รุนแรง

2. เจ้าของกระทู้รับไม่ได้และไม่เห็นว่านั่นเป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นการดูถูกศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ขัดกับเรื่องความเท่าเทียม

3. เจ้าของกระทู้จึงเรียกร้องให้ทั้งสองข้างหันมาใช้เหตุผลคุยกันดีอย่างสุภาพ เรื่องอารมณ์ก็เก็บไว้ก่อน

ผมขอถามว่า ตกลงเจ้าของกระทู้จะเอาอย่างไรกันแน่ ก็เพราะความต้องการให้พูดคุยกันอย่างสุภาพของคนไม่ใช่หรือไง? สำนวน "น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก" มันถึงได้เกิดขึ้น ในหัวข้อบทความข้างหนึ่งบอกการเก็บกดตามวัฒนธรรมไทยทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้น แต่อีกทีมาบอกต้องเก็บอารมณ์เอาไว้ แล้วมาพูดกันดีๆ ซึ่งก็ตรงกับลักษณะหันหน้าคุยกันในรูปแบบของ “น้ำขุ่นอยู่ใน น้ำใสไว้นอก” นั่นเอง กลายเป็นว่าในบทความเดียวกันประเด็นแรกที่เสนอกับประเด็นที่สามดันขัดแย้งกันเอง ใครเป็นเหลือง-แดงที่ขัดแย้งกันอยู่มาอ่านก็ต้องงงสรุป “จะให้กูระบายใส่กันไม่ยั้งแบบไม่ต้องเก็บกดดี หรือ จะต้องค่อยๆ พูดจาอย่างสุภาพแล้วเก็บกดไว้ออกไปฆ่ากันข้างนอกดีครับ” สรุปแล้วเจ้าของกระทู้อยากจะรับทราบเหตุผลของแต่ละฝ่ายจริงๆ หรือจะแค่เข้าไปดูว่า "ไอ้พวกคลั่ง" พวกนี้มันจะตีกันหนักแค่ไหน

อันนี้ไม่ได้ตำหนิ ว่า “การเสนอเรื่องการหันหน้าเข้ามาคุยกันด้วยเหตุผล” เป็นแนวคิดที่ไม่ดีนะ เพียงแต่ลักษณะการนำเสนอในบทความมันกำกวม และดูเหมือนจะไม่ได้ผ่านการคิดเชิงวิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วนเลย บอกตามตรงคนที่อ่านบทความวิเคราะห์การเมืองที่เขียนโดยพวก “สองไม่เอา” บ่อยๆ จะพบลักษณะการยกตัวอย่างและการให้เหตุผลที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้เยอะมาก

ประเด็นที่สองคือเรื่องของประชาธิปไตยกับการเหยียดหยามศักดิ์ศรี เจ้าของกระทู้ยืนยันว่าการใช้คำไม่สุภาพหรืออาฆาตมาดร้ายซึ่งกันและกันเป็นการดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ประชาธิปไตยเกิดไม่ได้!! เอ่อ มันไปเกี่ยวกันตรงไหน??? ตรงนี้มันไม่ได้เกี่ยวกันเลย ลักษณะคำด่าที่ใช้สัตว์มาเปรียบเทียบหรือ”ไล่ให้ไปตาย”นั้นมีทุกภาษา (การด่าโดยใช้ลักษณะ “ไล่ให้ไปตาย” กับการเจตนาปราถนาให้บุคคลอื่นตายนั้นต่างกันนะครับ อย่าเที่ยวไปเดาใจคนอื่นจากคำพูดด้วยอารมณ์เพียงไม่กี่คำ) จะไปเหมารวมว่าการด่าเหน็บแนมกันด้วยถ้อยคำผรุสวาทเป็นการลดศักดิ์ศรีความเป็นเพื่อนมนุษย์ระหว่างกันไม่ได้ จริงๆ ถ้ามองจากอีกมุม เราก็อาจจะกล่าวได้ว่าเพราะพวกเขาเห็นว่าต่างฝ่ายเป็น “คนเหมือนกัน” นั่นแหละถึงได้ด่าเถียงกัน คงไม่มีใครเถียงสาดเอาเป็นเอาตายใส่หมา แมว ต้นไม้ ก้อนหิน ฯลฯ หรอก (อุ๊ย! มีคำว่า “เอาเป็นเอาตาย ด้วย แบบนี้ผมจะกลายเป็นพวกชอบความรุนแรงมั้ยน้า :-P)

ความเป็นประชาธิปไตยหาเกิดจากการพูดจากันด้วยถ้อยคำที่เคลือบน้ำตาลหวานๆ (แต่ข้างในเป็นเหตุผลงี่เง่าที่ฟังไม่รู้เรื่อง) แต่อย่างใดไม่ หากแต่เกิดจากความจริงใจในการยอมรับใน “มติแห่งเสียงส่วนใหญ่” ซึ่งสำนึกการยอมรับเสียงส่วนใหญ่นี้ย่อมเท่ากับเป็นการให้ความเท่าเทียมกับเจ้าของอธิปไตย(อันคือ ประชาชนทุกคน)ไปโดยตัวของมันเอง เนื่องจากในรัฐประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนต่างเป็นเจ้าของหรือมีส่วนในอำนาจอธิปไตยเสมอกัน นี่ต่างหากคือลักษณะเอกลักษณ์ของลัทธิประชาธิปไตย เรื่องความเท่าเทียม คอมมิวนิสต์ก็เท่าเทียม เรื่องการเรียกร้องสิทธิส่วนบุคคล ระบอบไหนก็เปิดโอกาสให้ทำได้ (แม้จะยากเข็ญสัก หน่อยในบางกรณี) ดังนั้นการไม่ยอมรับ “เสียงส่วนใหญ่” นี่ต่างหากหละที่เป็นการ “ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุด และเป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากทั้งมวลในสังคมที่หลอกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย

ผมก็เป็นคนที่ได้ผ่านตาข้อความของเจ้าของกระทู้ใน Social network อยู่บ่อยครั้ง จึงพอจะจับได้ว่าเส้นผมที่บังตาเจ้าของกระทู้อยู่นั้นก็คือเรื่องของอคติต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” นั่นเอง ซึ่งเป็นจุดที่คน “ตามข่าวสารทางการเมืองจากสื่อ” ส่วนใหญ่จะหลงในเขาวงกตแห่งความหลอกลวงนี้เหมือนๆ กันหมด ตรงนี้ผมขอเสนอมุมกลับของอคติด้วยการให้ไปอ่านบทความที่ผมเขียนขึ้นที่ http://akedemo.blogspot.com/2010/03/blog-post_26.html โดยสรุป “คนที่บอกว่ารักประชาธิปไตยซะเหลือเกินและไม่เอารัฐประหารนั้น ย่อมบอกว่าไม่เอาทักษิณไม่ได้ ตราบเท่าที่เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนเขาอยู่ แม้ว่าท่านจะเกลียดทักษิณเป็นขี้ ก็ต้องปกป้องทักษิณและต้องประณามความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อทักษิณ” การจะเอาเรื่อง “ข้อหาคอร์รัปชัน” ของทักษิณมาเป็นข้ออ้างนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก
  1. ข้อหานั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ แท้จริง (ข้อหาคอร์รัปชันเป็น ข้ออ้างหนึ่งในการทำรัฐประหารทุกครั้ง ซึ่งเชื่อไม่ได้เลย แม้แต่ในสมัยปรีดี ก็โดนข้อหานี้เหมือนกัน คำว่า “กินจอบกิน เสียม” ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตีปรีดี แล้วตอนนี้เป็นไง? มีใครขุดเรื่องนี้มาด่าปรีดีสักคนหรือ ไม่? มีคนเรียกร้องให้ปรีดีรับโทษโดยการริบ ทรัพย์ครอบครัวพนมยงค์หรือไม่?) ถ้าอยากจะโต้ประเด็น “ทักษิณโกงไม่โกง” นี้ด้วยการอ้างหลักฐานจาก Forward mailsที่มีอยู่จนตัวสั่น ก็ขอให้ไปทำความเข้าใจเรื่อง Due Process of Laws มาก่อน
  2. การคอร์รัปชันเป็นเพียงการกระทำความผิดในระบอบและมีกลไกการ ตรวจสอบเป็นปกติอยู่แล้ว ย่อมเทียบกันไม่ได้เลยกับการรัฐประหารซึ่งเป็นการล้มทั้งระบบ ซึ่งเป็นความเลวร้ายอย่างที่สุดแล้วในระบอบประชาธิปไตย การปฏิเสธรัฐประหารและผลพวงของมันจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนเจ้าของ อำนาจอธิปไตยทุกคนอยู่แล้ว ต่อให้ทักษิณโกงจริง ก็ต้องเรียกร้องความเป็นธรรมคืนให้ทักษิณ ต้องรับรองความไว้วางใจของเสียงประชาชนส่วนใหญ่มาก่อนเป็นที่ตั้ง จะมาใช้แนว “คนดีเหนือหลักการ” ไม่ได้
ตรงนี้ผมไม่อยากจะลากประเด็นของ “การเอาหรือไม่เอาทักษิณ” ต่อให้มากความ เรื่องของมุมมองความคิดคนมันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ ด้วยคำพูดไม่กี่คำ ผมเข้าใจ จะพูดกันจริงๆ สามวันสามคืนก็ไม่จบ

ที่ต้องขุดคุ้ยเรื่องอคติ “ทักษิณ” มาพล่ามจนยาวซะขนาดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นเป็นแนวทางว่า คนเช่นตัวเจ้าของกระทู้ซึ่งเชื่อใน “ความเป็นกลาง” แบบไม่ลืมหูลืมตานี่แหละเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบที่บ่อนทำลายประชาธิปไตยจนย่อยยับ สังคมไทยเป็นสังคมประหลาดที่ถ้าอยู่ๆ ใครคนใดคนหนึ่งยก “ความเป็นกลาง” ขึ้นมาพูดก็จะกลายเป็นว่าดูดีไปเลย มีอภิสิทธิ์เหนือพวกรากหญ้าชั้นต่ำโง่ๆ ที่ต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของนักพรตผู้เป็นกลาง แม้ว่า “ความเป็นกลาง” นั้นจะขัดแย้งกับหลักการก็ตามที ในสังคมไทยนี้ดูเหมือนว่ากระแสชี้นำสังคมของเหล่านักวิชาการวิชาเกินบางจำพวกจะมีอิทธิพลเหนือความถูกต้องไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ถ้า คนเสื้อเหลือง=พวกคลั่งเกลียดแม้ว, คนเสื้อแดง=พวกคลั่งรักแม้ว ผมก็คิดว่าพวกตรงกลางก็คือพวกคลั่งกอด “ความเป็นกลาง” หรือไม่ก็พวกดัดจริตชนที่พยายามลอยตัวเหนือปัญหาทั้งมวล โยนฟืนเข้าสุมไฟไปเรื่อยๆ แถมไม่ยอมรับอีกต่างหากว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของมัน

ต้องให้ขอร้องกันอีกกี่ทีกี่หนว่า อย่าทำตัวมักง่ายทางความคิด http://akedemo.blogspot.com/2010/03/blog-post.html ความเป็นกลางไม่ได้เป็นส่วนรับรองความถูกต้องเสมอไป ยกเว้นจะอยากได้ "ความถูกต้องแบบฟาสต์ฟู้ด" ขอจบด้วยกาพย์ "วิญญาณหนังสือพิมพ์" ของจิตร ภูมิศักดิ์ แล้วกัน

           กุ๋ย กุ๋ย เอ้าหุยฮา            จะขอโห่ให้ตูมตึง
สูเอยช่างดื้อดึง                          กระด้างดำในสันดาน 
           สูคนหนังสือพิมพ์             มาแปลงเพศเป็นคนพาล
ทรยศอุดมการ                            วิชาชีพอันลือชา
            อาวุธหนังสือพิมพ์           คือปลายคมแห่งปากกา
เป็นทวนอันคมกล้า                      และโคมทองอันวาววาม
            คือปากและคือเสียง         ของมวลชนอยู่ทุกยาม
เปิดโปงที่เลวทราม                      และเทอดทูนพิทักษ์ธรรม
            สะท้อนความทุกข์ยาก      และสาเหตุที่เงื่อนงำ
ชี้ทางเป็นแนวนำ                         และเป้าหมายอันโอฬาร
           เข้าร่วมในแนวรบ        ประชาชาติด้วยมือชาญ
ใช่ยืนสังเกตการณ์                 เอาตัวรอดอยู่ริมทาง
         ทวนทองต้องเป็นทวน   ที่กล้าแกร่งบ่เป็นกลาง
เป็นทวนที่เข้าข้าง                  อยู่เคียงคู่กับมวลชน
            โคมทองต้องส่องทาง       และสัจจธรรมแก่ใจคน
สาดแสงอันร้อนรน                       ให้ปีศาจปลาตหนี
            นี้คือจรรยาบรรณ             อุดมการทั้งมวลมี
คือเกียรติและศักดิ์ศรี                    อันสุดแสนจะแหนหวง
            คือเลือดอันเดือดพล่าน     เป็นพรายผุดในกลางทรวง
คือใจแต่เดียวดวง                        และวิญญาณหนังสือพิมพ์

เอาหละ นี่ผมก็ได้แสดงความเห็นแบบไม่กระมิดกระเมี้ยนไปพอควรแล้ว เจ้าของกระทู้หรือผู้สนใจท่านอื่นใดต้องการจะเสนอความเห็นต่อ ผมก็ยินดีน้อมรับ

อันนี้นอกประเด็น: ความขัดแย้งที่รุนแรงในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเพียงเพราะคนไม่กี่คนหรือในเวลาชั่วข้ามคืน ความขัดแย้งมันซุกไว้ใต้พรมมานานแล้ว นานจนพวกชนชั้นกลางซึ่งอยู่รอบนอกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองละเลยกันไปหมด ทุกๆ สถานการณ์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังการก่อการปี 2475 ล้วนเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น อยากเถียงประเด็นนี้เพิ่มเติม คงต้องคุยกันผ่านการสนทนาโดยตรง


ด้วยความเคารพอย่างสูง
สมศักดิ์ ลิขิตรัตนพิศาล
akedemo

2 comments:

  1. เราไม่ได้ปฏิเสธการเลือกข้าง แล้วก็ไม่ได้โกรธที่คนเลือกข้างใดข้างหนึ่งด้วย ที่เราเขียน เราต้องการให้การแสดงความคิดเห็นเป็นไปแบบที่มีเหตุมีผล (เรารู้ว่าเอกมีเหตุผลของเอกที่ยกมา ซึ่งโอเค แต่เราไม่ได้ต้องการสื่อที่จุดนั้น) เราเห็นด้วยที่เอกมีจุดยืนและเหตุผลมาโต้แย้ง ซึ่งเรายอมรับได้ อย่างที่บอก เราแค่รับไม่ได้กับความเห็นไร้เหตุผล เต็มไปด้วยความโกรธแค้นในเว็บข่าวต่างๆก็แค่นั้น เพราะเราเชื่อว่าการนำเสนอความเห็นของตัวเองไม่จำเป็นต้องแฝงอารมณ์รุนแรงหรือความเกลียดชัง ก็สามารถสื่อความครบถ้วนได้

    อาจจะเขียนออกมาคลุมเครือ แต่ความหมายที่ต้องการสื่อ จริงๆแล้วไม่ใช่วิเคราะห์การเมืองแต่อย่างใด แต่ต้องการให้เห็นว่า วิธีในการแสดงความคิดเห็นนั้นมีหลายวิธี คนเราสามารถแสดงความไม่พอใจออกมาได้โดยที่ไม่ต้องสบถ หรือสาบแช่งได้

    (ปล. เราก็ไม่ได้อยากจะเดาใจคนอื่นด้วยคำพูดไม่กี่คำหรอกเอก แต่เอกน่าจะเคยอ่านคำสาบแช่งสารพัดในเว็บผจก. นั่นแหละที่ทำให้เชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีความปรารถนาดังว่าจริง)

    ปล.2 แล้วจะโกรธทำไมวะ เอกมีเหตุผลในจุดยืนทางความคิดของเอก ก็ดีแล้วนี่หว่า???

    ReplyDelete
  2. ถึงจุดนี้ผมก็พูดได้ว่าพอเข้าใจสำหรับความเห็นและความหวังดีของไผ่นะ เข้าใจความรู้สึกถึงของคนที่ต้องการความเป็นกลางอย่างสงบด้วย (เพราะเคยเป้นมาก่อน) แต่ผมก็ต้องการแสดงถึงจุดยืนตามหลักการด้วย

    ผมไม่ได้เข้าไปในเว็บของพวกเสื้อเหลืองมากนัก (เคยเข้าไปบ้างสำหรับกรณีที่น่าสนใจจริงๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์) แต่ก็พอทราบดีว่าที่นั่นไร้เหตุผลและบกพร่องในทางตรรกะกันขนาดไหน อย่าว่าแต่เว็บผู้จัดการเลย ในเว็บของเสื้อแดง เช่น ประชาไทเว็บบอร์ด ก็มีการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามในลักษณะรุนแรงหยาบคายเช่นเดียวกัน เพียงแต่น้อยกว่ากันมากและโดยมากจะเป็นไปในทางตอบโต้การยั่วยุมากกว่าจะเป็นการหาเรื่อง (นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมเลือกไปทางเสื้อแดงดีกว่า :-P) แต่สิ่งทีผมเห็นว่าต้องใส่ใจมากกว่าลักษณะการพูดและการแสดงออกแบบนั้น ก็คือ เหตุผลพื้นฐานของอารมณ์เช่นนั้นต่างหาก

    เหตุใดทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองเสื้อขาวถึงได้โจมตีและแตกแยกในทางความคิดกันได้ขนาดนี้? กรอบความคิดของฝ่ายไหนกันแน่ที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักการความเป็นจริง?

    ป.ล. ไม่โกรธกันก็ดีแล้ว เพราะผมเองก็ชอบการแลกเปลี่ยนความคิดกันโดยอิสระเช่นกัน และในที่ที่ผมยืนก็ยอมรับความคิดเห็นที่ต่างจากตนเองเหมือนกันเว้นแต่ว่าความคิดนั้นจะขัดแย้งกับหลักการสากลแบบผิดเพี้ยนจนรับไม่ได้

    ReplyDelete