14 March, 2010

หยุด "ความมักง่าย" ในวันนี้ เพื่อเลี่ยงสงครามกลางเมืองในวันหน้า

ช่วงสองสามวันที่ผ่านมานี้ (12-14 มีนาคม พ.ศ. 2553) เป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือที่รู้จักกันในหน้าสื่อว่า "เสื้อแดง" จุดประสงค์ในการชุมนุมครั้งนี้คือการล้มรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ซึ่ง (คนเสื้อแดงเชื่อว่า) ก้าวเข้ามาสู่อำนาจโดยขาดความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย

นี่เป็นภาพการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ประเทศไทย เป็นการรวมตัวเรียกร้องทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คนนับแสนนับล้านจากทุกสารทิศทั่วประเทศเดินทางเข้ามาร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตนเอง อุดมการณ์ที่พวกเขาเชื่อว่าคือความถูกต้องและความยุติธรรม

นักวิชาการและคนที่เรียกตัวเองว่า "ปัญญาชน" หลายคนมองการเคลื่อนไหวของมวลชนในช่วงไม่กี่ปีมานี้อย่างดูถูกว่าเป็น "ความแตกแยก" "ความไม่สงบ" มวลชนคนเสื้อแดงถูกตีตราว่าเป็นพวก "รากหญ้า" เป็น "พวกคนจน" "ชนชั้นต่ำ" ที่รับเงินค่าจ้างมา (ออกค่ารถค่าเรือมาตากแดดตากฝนแถมเสี่ยงกับการโดนล้อมปราบ เพื่อเงินไม่กี่ร้อย?)

ผู้กุมอำนาจรัฐ, ชนชั้นสูง, ชนชั้นกลางในเมืองหลวง (บางคน) และสื่อกระแสหลักก็พยายามเหลือเกินที่จะยัดเยียดภาพให้เสื้อแดงเป็น "ฝูงชนนิยมความรุนแรง" เป็นพวกบ้านนอกเผาบ้านเผาเมืองที่เข้ามายึดกรุงเทพเป็นตัวประกัน (โดยนำภาพการยึดสนามบินของพันธมิตรฯ มาอ้างอิงซ้ำไปซ้ำมาราวกับคนสมองเสื่อม)

กรอบความคิดเช่นนี้ คือ "ความมักง่ายทางความคิด" เป็นการเชื่อตามวาทกรรมและภาพมายาฉาบฉวยที่ถูกสร้างขึ้นตามหน้าสื่อโดยขาดการพิจารณาไตร่ตรองตามหลักเหตุและผล ความมักง่ายนี้เคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือแล้วครั้งหนึ่งในช่วงปี 2516-2519 ครั้งนั้นสื่อสร้างภาพ "ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์" "ล้มเจ้า" "หัวรุนแรง" ให้กับนักศึกษาผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และสุดท้ายก็นำไปสู่ประวัติศาสตร์เลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาถูกล้อมสังหารอย่างโหดเหี้ยมด้วยน้ำมือของคนที่คิดว่าตนเองทำถูกต้อง ทำเพราะความรักชาติ ทำเพื่อความจงรักภักดี

เวลาผ่านไปกว่าสามทศวรรษ สังคมไทยก็ได้เลือกที่จะ "ลืม" บทเรียนราคาแพงบทนี้ไป รัฐบาลและสื่อมวลชนไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะหยิบยก "ความมักง่ายทางความคิด" นี้กลับมาเป็นเครื่องมืออีกครั้ง บทเหมือนเดิม กล้องตัวเดิม ฉากเปลี่ยน ตัวละครเปลี่ยน

เมื่อไรเราจะจำ?

ผลลัพธ์ที่น่ากลัวที่สุดของละครบทนี้ คือ ฉากจบของมัน ครั้งนั้นนักศึกษาหลายพันคนต้องเลือกเข้าป่า จับปืนต่อสู้ เป็นสงครามยืดเยื้อ เลือดคนไทยด้วยกันทาทั่วผืนแผ่นดิน แล้วครั้งนี้หละ?

มวลชนนับแสนนับล้าน (หรืออาจจะถึงหลักสิบล้าน ถ้านับรวมคนที่ยังไม่ได้ร่วมแสดงพลังออกมา) จะถูกกวาดถูกผลักไปอยู่ใต้พรมที่ไหน ถ้าไม่ใช่ถูกบีบให้ต่อสู้ด้วยทุกสิ่งที่มีแม้กระทั่งชีวิตเพื่อแลกกับศรัทธาสูงสุด คนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มเดียวกันที่ครั้งหนึ่งทำได้แค่ยืนมองดูภาพการมอบดอกไม้ให้ทหารในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 ด้วยน้ำตาอาบแก้ม คนที่ครั้งหนึ่งได้แค่ขบกรามกัดฟันในวันที่หนึ่งเสียงของพวกเขาถูกใช้เป็นแค่เครื่องมือต่อรองของนักการเมืองทรยศ และเมื่อพวกเขาออกมาตะโกนโห่ร้องขอความเป็นธรรมบ้างก็กลายเป็น "พวกโง่หลงผิดหัวรุนแรง" ให้ชาวกรุงผู้เลิศเลอศิวิไลซ์เหยียดหยามและเกลียดชัง ทำราวกับพวกเขาไม่ใช่คน ไม่ใช่เพื่อนร่วมชาติ

นี่แหละ ความรุนแรงทางความคิดที่จะนำไปสู่ปฏิกิริยาโต้ตอบอันได้แก่ความเคียดแค้นของผู้ถูกกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความแค้นของประชาชนในสภาวะการณ์แห่งความขัดแย้งเช่นนี้จะนำไปสู่สิ่งอื่นใดได้เล่า นอกจาก "สงครามกลางเมือง" และกลียุคที่จะตามมา ชนวนระเบิดแห่งความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่กดไว้มานานแสนนานจะประทุขึ้นมาดุจธารลาวาอันเกรี้ยวกราด เปลวเพลิงแห่งความกลัวและความอาฆาตก็จะเผาทุกอย่างให้ราบพณาสูร ภาพมายาจากความคิดมักง่ายก็จะออกดอกออกผลเป็นความจริงอันน่าสะพรึง

ณ วันนี้ วินาทีนี้ สังคมไทยยังเหลือทางเลี่ยงจากเส้นทางอันมืดมนนี้ เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมดั่งลูกโซ่และฟันเฟืองที่คล้องกันไว้ ดังนั้นเราไม่อาจหลีกเลี่ยงลอยตัวพ้นความรับผิดชอบต่อปัญหาความขัดแย้งนี้ได้เลย สิ่งที่ทุกคน ("ทุกคน" คือ ทุกคนรวมหมดไม่ว่าเสื้อแดง-เสื้อเหลือง-เสื้อขาว) ต้องทำในวันนี้ คือ
  1. เลิกมองภาพปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างฉาบฉวย หยุด "ความมักง่าย" ก่อนจะปักใจเชื่ออะไรสักอย่างต้องวิเคราะห์ตามหลักการและเหตุผล ศึกษาและทำความเข้าใจกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มผู้ชุมนุม "ทำไมพวกเขาต้องออกมา?" "สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องถูกต้องตามแนวทางประชาธิปไตยหรือไม่?" 
  2. คนที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่เป็นพวกรากหญ้าโง่ๆ ที่ถูกจ้างมา หรือ ทำแค่คนเพียงคนเดียว เลิกดูถูกคนชั้นล่างว่าเป็นพวกที่ไม่ควรมีสิทธิเท่าเทียมชนชั้นผู้ดี-ผู้มีการศึกษา หันมาเปิดใจมองทุกคนอย่างเท่าเทียม มีหนึ่งสิทธิและมีหนึ่งเสียงเท่ากันตามระบอบประชาธิปไตย
  3. เลิกหนีปัญหาโดยการดื้อรั้นกอด "ความเป็นกลาง" อย่างไม่ลืมหูลืมตา ต้องยอมรับว่า "สังคมมีปัญหาและเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา" และช่วยกันหาทางออกด้วยใจเป็นธรรม การพล่ามคำว่า "ผม/ดิฉัน เป็นกลาง" "รักสันติ" "สมานฉันท์สามัคคี" ไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้น นอกจากปลอบประโลมใจผู้พูดไปวันๆ
    จะหยุดความมักง่ายวันนี้ หรือ จะปล่อยให้มันลุกลามเป็นสงครามกลางเมืองในวันหน้า ผม/ดิฉัน/คุณ/เราต้องเลือก พวกเราจะปล่อยปะละเลยเหมือนอย่างที่เคยทำมาไม่ได้แล้ว อย่ารอให้คนรุ่นหลังอ่านประวัติศาสตร์ของรุ่นเรา แล้วย้อนถามว่า "คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?"

    8 comments:

    1. อ่านแล้วถูกใจมากครับ

      ReplyDelete
    2. ดีมากไอ้เตี้ย

      ReplyDelete
    3. +10 ขอบคุณมากครับ

      ReplyDelete
    4. เฮ้ย สุดยอดอ่ะ ไม่อยากเชื่อว่านี่สมศักดิ์เพื่อนเราจริงๆเหรอ เมื่อก่อนเห็นเงียบๆแต่แอบเจ๋งนะเนี่ย


      คนที่ออกมาชุมนุมไม่ใช่เป็นพวกรากหญ้าโง่ๆ ที่ถูกจ้างมา หรือ ทำแค่คนเพียงคนเดียว เลิกดูถูกคนชั้นล่างว่าเป็นพวกที่ไม่ควรมีสิทธิเท่าเทียมชนชั้นผู้ดี-ผู้มีการศึกษา หันมาเปิดใจมองทุกคนอย่างเท่าเทียม มีหนึ่งสิทธิและมีหนึ่งเสียงเท่ากันตามระบอบประชาธิปไตย >>>> พูดได้ตรงใจมากๆอ่า ประชาธิปไตยอ่ะ มันมีโง่มีฉลาดด้วยเหรอ ตัดสินคนอื่นว่าโง่ แล้วให้เค้าไม่มีความหมายในระบอบประชาธิปไตยเหรอ


      เลิกหนีปัญหาโดยการดื้อรั้นกอด "ความเป็นกลาง" อย่างไม่ลืมหูลืมตา ต้องยอมรับว่า "สังคมมีปัญหาและเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา" >>>> สุโก้ยยยย เวลาแบบนี้ เป็นกลางไปก็ช่วยไรให้ดีขึ้นไม่ได้เนอะ พูดแบบนี้หนีปัญหามากกว่า


      ชอบๆ ^^

      ปล.นี่พลอยเองนะ

      ReplyDelete
    5. อย่าถือตัวว่าเป็นปัญญาชนครับ ต้องฟังเหตุผลเขาบ้าง
      การตราหน้าคนอื่นว่าเป็นคนที่ต่ำต้อยด้อยค่า
      ไม่ควรสิทธิ์มีเสียงทางการเมือง
      แสดงว่าคุณไม่รู้จักประชาธิปไตย
      จะเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ นปช.
      หรือ เสื้อขาว อะไรก็ตาม
      ทุกคนคือหุ้นส่วนของประเทศไทย
      / พ่อแม่เป็นเกษตรกรจบป.4
      ผม จบ ป.ตรี จุฬาฯ เห็นคุณค่าความเป็นคน

      ReplyDelete
    6. ไม่เคยมีใครกล่าวหา ว่าร้ายผู้มาชุมนุมว่าเป็นรากหญ้า หรือ โง่เง่าเลย..ผมเห็นมีแต่ผู้นำพวกคุณเองนั่นแหละที่คอยกล่าวหา พวกผู้มาชุมนุมว่าเป็นไพร่บ้าง รากหญ้าบ้าง โง่บ้าง..พวกคุณล้วนกล่าวหาพวกคุณกันเองทั้งนั้น..

      ReplyDelete
    7. * เปิบข้าวทุกคราวคำ
      จงสูจำเป็นอาจิณ
      * เหงื่อกูที่สูกิน
      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
      * ข้าวนี้นะมีรส
      ให้คนชิมทุกชั้นชน
      * เบื้องหลังสิทุกข์ทน
      และขมขื่นจนเขียวคาว

      ReplyDelete
    8. * เปิบข้าวทุกคราวคำ
      จงสูจำเป็นอาจิณ
      * เหงื่อกูที่สูกิน
      จึงก่อเกิดมาเป็นคน
      * ข้าวนี้นะมีรส
      ให้คนชิมทุกชั้นชน
      * เบื้องหลังสิทุกข์ทน
      และขมขื่นจนเขียวคาว

      ReplyDelete