13 February, 2011

ละอายกันหน่อย Social Network ไม่ใช่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ผมจำได้ว่าก่อนหน้านี้ตอนที่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยขยับตัวขึ้นไปอยู่บนโลก Social Network ใหม่ๆ อย่าง Twitter ของทักษิณ (@ThaksinLive) มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามเกิดอาการ "รับไม่ได้" ราวกับว่าโลก Social Network ของพวกเขาเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังถูกความสกปรกโสโครกของการเมืองเข้ามาแปดเปื้อน หรือแม้แต่กระทั่งกระแสความนิยมใน Facebook และ Twitter ของ บก. ลายจุด ผู้นำทางความคิด "แกนนอน" ของเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงหลังการสังหารหมู่ประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2553 ก็ได้รับการดูแคลนจากคนกลุ่มเดิมนี้เช่นกัน อันนี้ผมขอไม่พูดถึงการปิดกั้นของรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองที่ชัดเจน

ผมสงสัยและอยากถามพวกเขาเหลือเกินว่า "พวกคุณใช้สิทธิ์อะไรมากะเกณฑ์ว่าคนไหนมีสิทธิ์ทำอะไรหรือไม่มีสิทธิ์ทำอะไรในโลกออนไลน์?"

พวกคุณเป็นเจ้าของ Facebook หรือ Twitter หรืออะไรอื่นๆ หรือ? พวกคุณจ่ายเงินมากกว่าคนอื่นเป็นโคตรมหาอภิ VIP user หรือ? พวกคุณเป็นผู้กุมความถูกต้องในสังคมออนไลน์หรือ?



ในเมื่อพวกคุณไม่ใช่สิ่งที่ผมพูดไปสักอย่าง ทำไมผมถึงเจอข้อความประเภทข้างล่างนี้เยอะเหลือเกิน

"[เติมชื่อ Social Network เอาเอง] ไม่ใช่ที่เรียกร้องทางการเมือง"
"อย่าเอา [เติมชื่อ Social Network เอาเอง] ไปใช้หาประโยชน์ให้พวกตัวเอง"
"[เติมชื่อ Social Network เอาเอง] มีไว้สำหรับมิตรภาพ ไม่ใช่ให้คนมาเล่นการเมือง"

ในขณะเดียวกัน คนกลุ่มเดียวกันนี้ก็ยกโขยงกันไปตาม follow หรือกด Like นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กันอย่างล้นหลาม หรือไม่ก็ใส่แท็ก #weloveking จนแทบจะไม่ต่างจาก spam tag

เรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่ผมอยากจะตอกย้ำเท่าไร เพราะเป็นพฤติกรรมของพวกเนียนสองไม่เอา (เสื้อแดงเรียกพวกนี้ว่า "สลิ่ม") คติประจำใจของคนพวกนี้คือ "เสื้อแดงเลว เสื้อเหลืองไม่ดี เราไม่ยุ่งการเมือง แต่กูไม่เอาเหี้ยแม้ว และที่สำคัญ กูรักในหลวงมากกกก" อันนี้ผมเข้าใจ ผมเข้าใจจริงๆ

แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้ควรจะต้องละอายได้แล้ว คือสิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการลุกฮือของประชาชนในประเทศอียิปต์



ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Social Network กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนกลุ่มใหญ่เคลื่อนไหวอย่างมีเอกภาพจนสามารถโค่นล้มเผด็จการลงได้ แล้วทำไมผมไม่เห็นการบ่นอิดออดลักษณะเดียวกันอย่างข้างบนต่อกลุ่มคนที่ประท้วงในอียิปต์บ้างเล่า

ผมขอเดาของผมเอาเองว่าเหล่าดัดจริตชนออนไลน์ของเราคงจะละอายที่ "ดินแดนศักดิ์สิทธิ์" ของพวกเขาไม่มีอยู่จริง ผมคิดว่าถ้าพวกเขามีสามัญสำนึกขั้นต่ำอยู่ พวกเขาต้องมีความรู้สึกละอายกับเหตุการณ์ที่ตูนิเซียหรืออียิปต์บ้างไม่มากก็น้อย


ลองอ่านแค่สองข่าวข้างล่างนี้

Twitter ยืนยัน ถูกรัฐบาลอียิปต์บล็อค


Google จับมือ Twitter เปิดบริการพูดออกทวีตช่วยอียิปต์




เราคงพอได้เห็นภาพรวมๆ แล้วว่าผู้สร้าง Social Network เหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกคนใช้บริการออนไลน์ในเว็บของพวกเขาได้อย่างเสรี พวกเขาเองไม่เคยเรียกร้องให้พื้นที่บริการของเขาเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์อย่างที่คนไทยบางคนเพ้อเจ้อเลย แถมยังมีทีท่าสนับสนุนประชาชนด้วย (ถ้าอ่านข่าวข้างบนแล้วคุณยังคิดว่า Twitter กับ Google เห็นใจรัฐบาลมูบารัค ผมขอให้คุณไปตรวจสมองโดยด่วน ส่วน Facebook ไม่ต้องพูดถึง Mark Zuckerberg กลายเป็นฮีโร่ในการประท้วงโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ) และนอกจากนี้การรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลกก็เป็นไปในทางเดียวกันหมดว่าการใช้เครื่องมืออินเตอร์เน็ตในการต่อสู้ทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การยอมรับ ไม่มีอะไรที่ผิดธรรมชาติ ไม่มีอะไรสกปรกหากประชาชนจะเรียกร้องประชาธิปไตยไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดๆ

ไม่ใช่แค่ Facebook กับ Twitter ที่แสดงความเห็นด้วยเช่นนี้อย่างออกนอกหน้า Youtube ยังเปิดช่องรายงานสดการประท้วงที่อียิปต์ให้กับ Aljazeera ด้วย

ผมคิดว่าหากคนที่เคยบริภาษการเคลื่อนไหวทางการเมืองในสังคมออนไลน์ควรจะย้อนกลับไปและสารภาพความงี่เง่าในความคิดที่ผ่านมาของตัวเองได้แล้ว อย่างน้อยก็สารภาพกับตัวเองหน้ากระจกก็ได้

หรือผมจะหวังมากไป?

No comments:

Post a Comment