10 January, 2011

การเมืองทำให้คนทะเลาะกัน?

ทำไมคนไทยจึงมีคติ "หลีกเลี่ยงการสนทนาการเมืองในหมู่เพื่อนฝูง, คนรู้จัก"?

ด้วย ตัวของ "การเมือง" แล้ว มันไม่สามารถไปสร้างความขัดแย้งในคนเกลียดกัน ทะเลาะจนตัดญาติขาดมิตรกันได้ ทางตรงกันข้าม การเมืองคือเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ เป็นหนทางในการลดระดับความขัดแย้งในสังคม

การสนใจการเมืองหรือยกการเมืองมาพูดในวงสนทนาก็ไม่ต่างอะไรจากวิจารณ์หนังหรือดารา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ การสื่อสารถึงเรื่องรอบตัว, เรื่องของคนอื่น, เรื่องของสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ทำให้สังคมมนุษย์เป็นสังคมของมนุษย์ ไม่ใช่ฝูงสัตว์ที่มาอยู่รวมกันในคอก แม้แต่ละคนจะมีรสนิยม พื้นฐานความชอบแตกต่างกันไป ความแตกต่างทางความคิดก็ไม่อาจจะสร้างความเกลียดชังให้กับผู้คน




ต้นเหตุ ปัญหาที่ "การเมืองทำให้คนทะเลาะกัน" จึงไม่ได้อยู่ที่ตัวการเมืองเองหรือว่าความแตกต่างทางรสนิยมการเมือง แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า "คนไทยถูกปลูกฝังให้ไม่ยอมรับความแตกต่าง" การปลูกฝังนี้เป็นการชวนเชื่อทางการเมืองที่มีอยู่ทุกอณูบรรยากาศของความ เป็นไทยในปัจจุบัน
  • อาหารไทย มวยไทย ดนตรีไทย ผ้าไทย ฯลฯ คือศิลปะวัฒนธรรมที่ดีเลิศที่สุด ชนชาติเรามีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ทั้งที่จริงความเป็นรัฐชาติเพิ่งจะตั้งไข่ในปลายสมัย ร.5 หรือต่อให้นับเลยไปถึงสมัยสุโขทัย น่านเจ้า ทวารวดี สุพรรณภูมิ ชนชาตินี้ก็มีประวัติไม่เกิน 1,000 ปี (โลกนี้เกิดมาแล้ว 4-5 พันล้านปี สิ่งมีชีวิตยังต้องเปลี่ยนแปลงพัฒนามาตลอด ไม่เคยมีตัวไหนลุกขึ้นมาบอกว่า "ข้านี่เก่าแก่สุด ดีที่สุด อย่ามาเปลี่ยนแปลงอะไร" แล้วความคิดงี่เง่าที่ดึงดันจะให้งมงายอยู่กับวัฒนธรรมอายุไม่กี่ร้อยปีมัน มาได้อย่างไร?)
  • สิ่งที่ผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ พระสงฆ์พูดกลายเป็นสิ่งที่แตะต้อง, วิจารณ์, ตั้งคำถามไม่ได้ เรื่องนี้ไม่ต้องคิดไปไกล ทุกคนเคยผ่านชีวิตวัยเด็ก ต้องเคยประสบเรื่องเหล่านี้ทุกคน ถ้าคุณไม่ใช่หุ่นยนต์ที่คอยรับแต่โปรแกรม ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิตที่คุณไม่เห็นด้วยกับคำสั่งสอนโบราณคร่ำครึ
  • แค่เขียนหนังสือผิดไปหนึ่งตัว คุณอาจจะโดนประนามว่าเป็นพวกไร้วัฒนธรรม ลืมรากเหง้าได้เลย ทั่งที่ความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน มีใครออกเสียงควบกล้ำ ร ล ครบทุกคำบ้าง?
  • ละครไทยจะต้องมีพระเอกนางเอกที่ดีแสนดี ฉลาด ต่อสู้ตัวร้ายที่ชั่ว โกง เลว โง่ สิ่งที่พระเอกนางเอกทำจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับเสมอ ถ้าพระเอกเป็นตำรวจจะบุกเข้าไปจับผู้ร้ายโดยที่ไม่หมายจับก็ได้ และถ้าผู้ร้ายจะฟ้องกลับแปลว่า "มันหัวหมอ"
  • "คนไทยต้องรักในหลวง ใครไม่รักไม่ใช่คนไทย ต้องออกจากประเทศนี้ไป"
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราโดนยัดเข้ามาตลอด ทั้งรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันคือ "กรอบแนวคิดทางการเมือง" แบบหนึ่งนั่นเอง มันเป็นชุดแนวคิดที่ยัดใส่แพคเกจมาอย่างดี กล่องสวยแนบเนียน ติดป้ายให้ดูทันสมัยบ้าง ย้อนยุคอนุรักษ์บ้าง ตามแต่กระแสนิยมในช่วงเวลานั้นๆ

ที่น่าตลกสุดๆ คือ หลังจากการโดยปลูกฝังอันยาวนาน ในที่สุด แนวความคิดทางการเมืองที่รวมศูนย์แบบสุดโต่งขนาดนี้ กลับแสดงออกมาในรูปของการ "ไม่เอาการเมือง", "เบื่อการเมือง", คตินิยมที่ดูถูกนักการเมืองในระบบว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวที่หวังจะเข้ามาโกงกิน อย่างเดียว และเหยียดหยามผู้ที่สนใจการเมืองว่าเป็นคนบ้าเพ้อเจ้อที่สร้างความแตกแยก

ความคลั่งทางการเมืองลักษณะนี้ต่างหากที่ทำให้การสนทนาเรื่องการเมืองในหมู่คนรู้จัก, เพื่อน, ญาติ จบลงด้วยความสัมพันธ์ที่แตกร้าว การพยายามตีสีหน้าจริงจังแล้วตัดจบบทสนทนาด้วยคำพูดสวยหรู "หยุดพูดเรื่องการเมืองเถอะ จะได้ไม่ทะเลาะกัน เครียด" เป็นแค่การบังคับทางอ้อมให้คนอื่นหยุดเถียงตนเอง เป็นกลไกการหนีความขัดแย้งธรรมดาสามัญ สุดท้ายสังคมไทยก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่ได้แก้ไข ฝุ่นที่อยู่ใต้พรมนานวันเข้าก็สะสมไปเรื่อยๆ ต่อให้พรมฝืนนี้จะกว้างใหญ่สักแค่ไหน สุดท้ายมันก็ต้องทะลักออกมา

No comments:

Post a Comment